ยินดีต้อนรับสู่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านท่าโทก

กลัวเจ็บ ไม่กลัวตาย

ตอนสาย ๆ ของวันจันทร์  วันแรกของสัปดาห์ที่จะมีคนมารับบริการที่ รพ.สต.มากกว่าทุก ๆ วันเป็นปกติวิสัย  มีทั้งผู้ป่วยและญาติที่กำลังพูดคุยกันเซ็งแซ่  บางคนกำลังชั่งน้ำหนัก  บางคนนั่งรอวัดความดันโลหิตกับ อสม.จิตอาสาที่มาช่วยงานที่ รพ.สต.  ช่างดูวุ่นวายจริง ๆ   ขณะนั่งตรวจคนไข้กลุ่มแรกอยู่ในห้องตรวจ   พยาบาลน้อยก็ได้ยินเสียงชายหนุ่มคนหนึ่ง  สอบถามพี่คนงานที่อยู่จุดคัดกรองว่า   อยากให้หมอไปเยี่ยมยายของเขาหน่อย  ได้ยินเสียงพูดคุยซักถามกันสักครู่   พี่คนงานก็เดินเข้ามาถาม                                                                                                                                                                                                                                                         
“ น้องเขาอยากให้ไปดูแผลของยายน้องเขาให้หน่อย  จะไปได้ไหมค่ะ ”  พี่ศรีถาม  แล้วรอฟังคำตอบ                                                 
“  เดี๋ยว  แป้บนึงนะพี่   ขอตรวจลุงแกเสร็จ  แล้วจะออกไปคุยด้วย  ”       พยาบาลน้อยตอบไปด้วยกำลังตรวจลุงแก้วที่ปวดขามา 3 วัน ค้างไว้อยู่   พอจ่ายยาให้ลุงแก้วเสร็จ  ก็เดินออกไปบอกป้าวรรณที่กำลังนั่งรอตรวจเป็นคิวถัดไปว่าขอคุยธุระกับน้องผู้ชายคนนี้สักครู่   ป้าวรรณที่ดูท่าทางใจดี  พยักหน้ายิ้มรับ                                                                               
“  สวัสดีครับ  ”  ชายหนุ่มยกมือไหว้อย่างนอบน้อม
“ สวัสดีค่ะ  ”  พยาบาลน้อยรีบรับไหว้
“ มีใครเป็นอะไรนะค่ะ  เมื่อกี้พี่ศรีบอกว่าอยากให้ไปเยี่ยมคนไข้ที่บ้านหน่อย ” พยาบาลน้อยถามเข้าประเด็นทันที
“ ครับ  ผมอยากให้หมอไปดูยายของผมหน่อย  แกเป็นแผลที่เท้ามา 1 เดือนแล้วครับ  แล้วแกก็เป็นเบาหวานด้วยครับ  ”  ชายหนุ่มรีบแจ้งความประสงค์
“ ยายเป็นเบาหวาน แล้วมีแผลที่เท้าด้วย  เป็นมานานแล้วนะนี่ ” พยาบาลน้อยรีบทวน
“ ขอโทษนะคะ ยายแกมีโรคประจำตัวอื่นด้วยมั้ย  แล้วแกเดินได้มั้ยค่ะ” พยาบาลน้อยซักเพิ่มเติม
“  แกเป็นเบาหวานอย่างเดียวครับ  แกเดินได้  อยู่ที่บ้านก็ใช้ walker  ช่วยเดิน ” ชายหนุ่มตอบ
“ ถ้างั้นพายายมาตรวจที่นี่ได้มั้ยค่ะ  เผื่อจะได้ล้างแผลให้แกด้วยเลย ”  พยาบาลน้อยแนะนำ
“ นั่นแหละครับ ปัญหาของผม ผมชวนแกมาตรวจที่นี่หลายหนแล้ว ตั้งแต่เห็นแผลแกครั้งแรก  แต่ยายไม่ยอมมา  บ่ายเบี่ยงตลอด  ล้างแผลเองที่บ้าน  จนตอนนี้แผลลุกลามเยอะขึ้นกว่าเดิม  มีกลิ่นเหม็นมาก  ผมก็จนปัญญาไม่รู้ว่าจะทำงัยดี  ยายแกดื้อมาก  ผมก็เลยต้องมารบกวนหมอให้ไปดูแกที่บ้านที   อยากให้แผลแกหายไว ๆ ครับ  ”   ชายหนุ่มเล่าระบายความทุกข์ใจให้ฟัง
“  อ้อ   เป็นอย่างนี้นี่เอง  เข้าใจแล้วค่ะ   งั้นขอเป็นตอนบ่าย ๆ นะค่ะ   ตอนเช้านี้คนไข้เยอะนิดนึง ”  พยาบาลน้อยรับปาก  พร้อมทั้งให้พี่ศรีถามชื่อ ที่อยู่  และเตรียม Family Folder  ไว้ให้ด้วย 
  หลังจากตรวจคนไข้เสร็จ พยาบาลน้อยได้มาเปิดดู Family Folder  ที่เตรียมไว้  พบว่าผู้ป่วยชื่อ  ยายปุก  เป็นโรคเบาหวานตั้งแต่ปี 2550  รับการรักษาที่ รพ.ประจำจังหวัดตลอด  ไม่มีประวัติการรักษาโรคเบาหวานที่ รพ.สต.เลย  จะมีบ้างก็เป็นอาการเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น  ครั้งสุดท้ายก็เมื่อปี 2554  แล้วแกก็ไม่เคยมาใช้บริการอีกเลย
ตอนบ่ายแก่ ๆ  ที่บ้านครี่งไม้ครึ่งปูนหลังกะทัดรัด  ดูสะอาดตา  บริเวณรอบบ้านปลูกต้นมะม่วง  ลำไย  เรียงรายชิดรั้วปูนดูร่มรื่น  มีสุนัขพันธุ์ไทยผสมเห่าเสียงดังอยู่ใต้ต้นมะม่วง   ทันทีที่เห็นพยาบาลน้อย  มาชะเง้อเรียกคนในบ้าน   สักพักมีผู้หญิงวัยกลางคน  เดินออกมาจากในบ้าน  พร้อมทั้งตะโกนไล่สุนัขให้เงียบเสียงแล้วเดินไปคล้องเชือกที่ปลอกคอไว้
“  เชิญเลยค่ะ  ”  หญิงวัยกลางคนยิ้มเชื้อเชิญ  พร้อมทั้งเดินมาเปิดประตูบ้านให้
“  สวัสดีค่ะป้า  หนูมาเยี่ยมคุณยายค่ะ ” พยาบาลน้อยยกมือไหว้ผู้สูงวัยกว่า
“ ค่ะ ค่ะ  แม่แกอยู่ข้างในค่ะ  คุณหมอเชิญเข้ามาในบ้านก่อนค่ะ ” คุณป้ารีบเชิญ แล้วพาพยาบาลน้อยเดินไปหายาย
คุณยายปุก  นั่งอยู่บนเก้าอี้ไม้ตัวยาวในห้องรับแขกที่บ้าน  ดูหน้าตาไม่ค่อยสดชื่น  สีหน้าท่าทางมีความวิตกกังวลมากอย่างเห็นได้ชัด  จนรู้สึกสงสาร สังเกตเห็นเท้าขวาที่ยายใส่ถุงเท้าไว้ข้างเดียว  อีกทั้งยังหุ้มด้วยถุงหิ้วพลาสติก  วางพาดม้านั่งพลาสติกตัวเล็กอยู่   ข้าง ๆ เก้าอี้ยาวก็เห็น walker  ตั้งอยู่ไม่ไกล
“ สวัสดีค่ะ ยายปุก  ”  พยาบาลน้อยยกมือไหว้ ยายปุกรับไหว้ช้า ๆพร้อมกับมองหน้าแต่ก็ไม่พูดอะไร
“ หนูเป็นพยาบาลอยู่ที่อนามัยนะค่ะ  วันนี้มาเยี่ยมยายปุก  หลานชายบอกว่า อยากให้มาดูแผลให้ยายหน่อย  เพราะว่าสงสารยาย  อยากให้แผลยายหายไว ๆ ”  พยาบาลน้อยแนะนำตัวพร้อมทั้งบอกวัตถุประสงค์ของการมาครั้งนี้ให้ทราบไปพร้อมกัน  แล้วทรุดตัวนั่งข้าง ๆ ยายปุก   สิ่งแรกที่พยาบาลน้อยสัมผัสได้ก็คือ กลิ่นเหม็นของแผลเบาหวานที่เป็นกลิ่นเฉพาะ 
หลังจากชวนคุยสร้างสัมพันธภาพกับยายปุกได้สักพัก    ก็จึงได้สอบถามถึงโรคเบาหวานของยายปุก  และการไปตรวจตามนัดที่ รพ.ประจำจังหวัด  ก็เป็นที่น่าแปลกใจว่ายายปุกไปตรวจตามนัดทุกครั้งไม่เคยขาดโดยลูกชายจะขับรถรับส่งทุกครั้ง  ระดับน้ำตาลในเลือดปกติบ้าง สูงบ้าง  ส่วนเรื่องการรับประทานยานั้นลูกสะใภ้เป็นคนคอยจัดยาให้รับประทานทุกวันตามแผนการรักษาของแพทย์   แต่ทำไมยายจึงเป็นแผลที่เท้าแล้วไม่ได้รับการดูแลรักษาใด ๆ  จากบุคลากรทางการแพทย์เลย  จนในที่สุดก็ได้พบสาเหตุของปัญหาที่ มอค.อย่างพวกเราก็อาจคาดไม่ถึงเลยจริง ๆ
ยายปุกมีลูกชาย 8 คน  ลูกสาว 1 คน  ลูกสาวแต่งงานไปอยู่กับสามีที่ต่างจังหวัด   นาน ๆ ก็จะมาเยี่ยมแม่บ้างตามเทศกาลวันหยุดยาวประจำปี  ดังนั้นการดูแลยายปุกจึงเป็นหน้าที่ของลูกชายทั้ง  5  คน ที่ปลูกบ้านอยู่ถัด ๆ  กันไปในบริเวณรั้วบ้านเดียวกัน ยายปุกเริ่มมีแผลเล็ก ๆ ที่นิ้วหัวแม่เท้าขวาโดยก็ไม่รู้ว่าเป็นตั้งแต่เมื่อไร  ยายปุกไม่เคยบอกใคร  จนคนในบ้านเห็น  แล้วชวนมาที่แผลที่ รพ.สต. แต่ยายปุกก็ไม่ยอมมา   ลูกชายก็ได้แต่เพียรบอกให้ยายปุก  บอกแพทย์ที่ รพ.ประจำจังหวัดให้ทราบเรื่องแผลด้วยทุกครั้งที่ไปพบแพทย์ตามนัด    การไปพบแพทย์ตามนัดของยายปุกนั้น  ลูกชายจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปรับส่งยายปุก  แล้วแต่ใครที่ว่างจากภารกิจหาเลี้ยงชีพ   ซึ่งเป็นการรับส่งจริง ๆ  นั่นคือ  ส่งยายปุกไปนั่งรอตรวจพบแพทย์  แล้วลูกชายก็มานั่งรอที่รถ   เมื่อยายปุกพบแพทย์เสร็จแล้ว  ก็จะโทรตามลูกชายมารอรับยาให้  แล้วก็รับยายปุกกลับบ้าน   เป็นอย่างนี้ทุกครั้งไม่ว่าจะไปกับลูกชายคนไหน   ไม่เคยมีลูกชายคนใดเลยที่เข้าไปพบแพทย์พร้อมกับยายปุก  ประกอบกับความเข้าใจผิดของยายปุกที่ได้ยินได้ฟังมาจากเพื่อนบ้าน  เกี่ยวกับเรื่องการตัดอวัยวะของผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีแผล  ทำให้เรื่องแผลของยายปุกไม่เคยรู้ถึงบุคลากรทางการแพทย์คนใด ๆ เลยแม้แต่คนเดียว  ซึ่งพอได้ทราบถึงที่มาของปัญหา  พยาบาลน้อยจึงได้พูดคุย ทำความเข้าใจกับยายปุกถึงเรื่องแผลที่เท้าทันที  แต่ด้วยความที่ยายปุกทีความเชื่อที่ฝังลึกมาก  จึงต้องค่อย ๆพูดคุย  ซักถามไปอย่างช้า ๆ  ปล่อยให้ยายปุกได้พูดระบายความรู้สึกออกมา   แต่พยาบาลน้อยก็ต้องนิ่งไปกับคำพูดของยายปุกที่ว่า
“ ยายกลัวเจ็บ   แต่ไม่กลัวตาย ”  ยายปุกพูดชัดเจน  พร้อมทั้งก้มหน้าปิดบังไม่ให้ใครเห็นน้ำตา
“ คำว่าเจ็บของยาย คือยังงัย  บอกหนูหน่อยได้มั้ยจ๊ะ ”  พยาบาลน้อยขอความกระจ่าง
“ ก็จะมาตัดขากันออกทั้งขา  จะไม่เจ็บได้ยังงัยล่ะหมอ   ยายยอมตายดีกว่า  ยายกลัว ” ยายปุกตอบเสียงสั่นเครือ
พยาบาลน้อยได้ยินแบบนี้ก็เห็นถึงทางสว่างขึ้นมาทันที  นี่เองคือสาเหตุที่ยายปุกไม่ยอมบอกแพทย์เพราะกลัวโดนตัดขาขวาทั้งขา  ทั้งๆที่ แผลยายปุกอยู่ที่นิ้วหัวแม่เท้าขวาเพียงนิ้วเดียวเท่านั้น  พอทราบดังนี้แล้ว  พยาบาลน้อยจึงได้อธิบายถึงแผนการรักษาของแพทย์ที่ถูกต้องให้ยายปุกและคนในบ้านทราบ  เปิดโอกาสให้ซักถามจนพอใจ   ในที่สุดยายปุกยอมไปพบแพทย์ก่อนนัดเนื่องจากมีแผลติดเชื้อที่เท้าขวา ยายปุกรับปากกับพยาบาลน้อยด้วยสีหน้าที่ยังคงมีความวิตกกังวลหลงเหลืออยู่  แต่พยาบาลน้อยก็มั่นใจว่ายายปุกจะไปพบแพทย์ที่ รพ.ประจำจังหวัดตามที่ได้รับปากไว้จริง ๆ   จึงได้นัดให้ลูกชายไปเอาใบส่งตัวยายปุกเพื่อพบแพทย์ที่ รพ.ประจำจังหวัดในวันรุ่งขึ้น
เวลาผ่านไป 2 สัปดาห์  พยาบาลน้อยขับรถผ่านหน้าบ้านยายปุก  ก็เห็นประตูบ้านปิดเงียบสนิท ก็ได้แต่สงสัย  อยากทราบเรื่องราวของยายปุก  จึงได้สอบถามกับ อสม.ที่ดูแลครอบครัวยายปุก  จึงได้ทราบว่ายายปุกได้นอนรักษาตัวที่ รพ.ประจำจังหวัด ยังไม่ออกมา  ตั้งแต่ที่ส่งตัวไปตั้งแต่คราวก่อน  กระทั่งเวลาผ่านไปได้อีก 3 วัน  อสม.คนเดิมมาบอกที่ รพ.สต.ว่า  ยายปุกกลับมาแล้ว   
ตอนสาย ๆ วันรุ่งขึ้น  พยาบาลน้อยไปเยี่ยมยายปุกที่บ้าน  พบกับยายปุกที่หน้าตายิ้มแย้ม  แจ่มใส  พูดคุยอย่างอารมณ์ดี  ไม่เหลือเค้ายายปุกคนเดิมให้เห็นเลย  พร้อมทั้งยังเปิดผ้าก๊อสที่ปิดแผลไว้ให้ดูอีกด้วยสภาพที่เห็นคือนิ้วหัวแม่เท้าขวาถูกตัดส่วนปลายที่เป็นเนื้อตายออกไป  แผลถูกเย็บและตัดไหมเรียบร้อยแล้วยายปุกสามารถเดินได้เองโดยไม่ต้องใช้ไม้เท้าช่วย  ยายปุกและคนในครอบครัวมีความสุขมากขึ้น
เรื่องราวของยายปุก  ถือว่าเป็นบทเรียนสำหรับ มอค.ได้เป็นอย่างดีในเรื่องการดูแลสุขภาพของคนในชุมชน  ภาระของรพ.ทั่วไป  รพ.ศูนย์ขนาดใหญ่   ที่ต้องให้บริการกับผู้ป่วยเป็นจำนวนมากนั้น  อาจทำให้การบริการไม่ครบถ้วน  ครอบคลุมได้   ประกอบกับปัจจัยส่งเสริมของตัวผู้ป่วยเอง เช่น ความรู้ ทัศนคติ  ความเชื่อ  ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ ดังเช่นเรื่องราวของยายปุก
 ดังนั้น  มอค.ที่อยู่ใน รพ.สต.สามารถเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนได้เป็นอย่างดี เพราะอยู่ในชุมชน เข้าถึงประชาชนได้ง่าย   รู้ถึงสภาพปัญหา  มีเครือข่ายที่ครอบคลุมทั่วถึง เพียงแต่ต้องรู้วิธีจัดการให้ถูกต้อง  เหมาะสมกับบริบทของสถานบริการนั้น ๆ    ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีอยู่อย่างจำกัดให้คุ้มค่าที่สุด   เราถึงจะได้ชื่อว่าเป็นสถานบริการที่ “  ใกล้บ้าน  ใกล้ใจ  ”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รพสต.ท่าโทก